ช่วงนี้รอบตัวเต็มไปด้วยสภาพอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษ ค่าฝุ่นละอองก็พุ่งสูง ทำลายสุขภาพมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะฝุ่นละอองหรือสารพิษทางอากาศ และวันนี้เราก็มี 10 ต้นไม้ดีๆ ที่ช่วยในการลดปริมาณสารพิษในอากาศ จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย...
1.จั๋ง
จั๋งเป็นพืชตระกูลปาล์มที่มีขนาดเล็ก เป็นพืชที่เจริญเติบโตช้า แต่เป็นพืชเลี้ยงง่ายและทนแล้ง จึงทนการขาดน้ำได้หลายวัน ทนต่อโรคและแมลงได้ดี อยู่ได้ทั้งแสงแดดจัดและกึ่งแดด ปลูกได้ในอาคารแต่ต้องมีแสงแดดพอสมควร
เจริญได้ดีในดินร่วน ด้านการดูแลให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักละลายน้ำ แล้วรดปีละ 2 ครั้ง สามารถดูดสารพิษจากอากาศได้มาก
2.หมากเหลือง
เป็นพืชตระกูลปาล์มที่ปลูกง่าย โตเร็ว เป็นพันธุ์ไม้ขนาดกลางสูง 5-10 เมตร เป็นพืชที่ชอบแสงแดดจัด ชอบความชื้นสูงและคายความชื้นสูง แต่ปลูกภายในอาคารได้ ด้านการดูแลต้องให้น้ำตอนเช้าวันละครั้ง และใส่ปุ๋ยคอกละลายน้ำรดเดือนละ 1 ครั้ง สามารถดูดสารพิษจากอากาศได้มาก
3.ไอวี่
เป็นไม้เถาคลุมดิน แตกใบเป็นแฉกๆ คล้ายใบตำลึง เจริญได้ดีในที่ที่เป็นแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนท์ และปลูกได้ดีในอาคาร ด้านการดูแลไม่ต้องรดน้ำบ่อยเพียงรดเมื่อดินแห้ง ค่อยๆ รดจนหน้าดินเปียก ไม่ให้น้ำท่วมขัง ถ้าอากาศแห้งให้สเปรย์น้ำ ให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงจะทำให้ได้ไอวี่ที่เขียว สามารถดูดสารพิษจำพวกเบนซีนได้ถึงร้อยละ 90 และดูดฟอร์มัลดีไฮด์ได้ด้วย
4.เศรษฐีเรือนใน
เป็นไม้กอขนาดเล็ก มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน เมื่อแก่เต็มที่จะมีลำต้นอ่อนแตกออกมาเป็นกิ่ง เป็นพืชที่ไม่ชอบแสงแดดตรงๆ แต่ปลูกได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร เจริญได้ดีในดินร่วนซุย ด้านการดูแลไม่ต้องให้น้ำมาก แต่ให้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละลายน้ำรด 2 เดือน/ครั้งก็พอ สามารถดูดสารพิษจากอากาศภายในอาคารได้ดีมาก เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นต้น
5.ปาล์มไผ่
เป็นพืชตระกูลปาล์มที่มีหน่อแตกเป็นกอ เจริญเติบโตช้า แต่เลี้ยงง่าย ทนทาน ทนต่อแมลง เป็นไม้กึ่งแดด ที่ต้องการแสงร่มรำไร จึงปลูกได้ภายในอาคาร ด้านการดูแลถ้าปลูกในอาคาร ควรรดน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละลายน้ำ แล้วรดเดือนละ 1 ครั้ง สามารถดูดสารพิษจำพวกเบนซีน ไตรคลอโรเอทธิลีนและฟอร์มัลดีไฮด์ได้ดี
6.เดหลี
เป็นไม้พุ่มเตี้ย สูง 30-60 เซนติเมตร ปลูกได้ภายในอาคาร แม้จะมีความชื้นต่ำ และรับแสงจากหลอดไฟฟ้า ด้านการดูแลควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ และมากขึ้นในช่วงที่มีอากาศร้อน แต่ถ้าอากาศเย็นต้องลดปริมาณการรดน้ำ สามารถดูดสารพิษจำพวกแอลกอฮอล์อาซีโตน ไตรคลอโรเอททีรีน เบนซีน และฟอร์มัลดีไฮด์ได้มาก
7.พลูด่าง
ลักษณะทั่วไปมีใบลักษณะเป็นรูปหัวใจ สีเขียวสดสลับกับสีเหลืองนวล เป็นไม้กึ่งแดดและร่มรำไร จึงปลูกได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร อาจได้แสงจากหลอดไฟก็ได้ เจริญได้ดีในดินเกือบทุกชนิด ด้านการดูแลควรให้น้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าเป็นฤดูร้อนอาจให้มากกว่านี้ โดยพิจารณาจากผิวหน้าของดิน สามารถดูดสารพิษได้มาก
8.หนวดปลาหมึก
เป็นไม้กึ่งร่ม ไม่ชอบแสงแดดจัด จึงปลูกได้ภายในอาคาร ต้องการน้ำมาก ปลูกง่าย โตเร็ว ไม่ต้องดูแลมาก ปลูกในอาคารรดน้ำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง และต้องการความชื้นสูง จึงต้องหมั่นฉีดละอองน้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงอากาศแห้ง และใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกละลายน้ำ แล้วรดเดือนละครั้ง สามารถดูดสารพิษได้มาก
9.กล้วยไม้พันธุ์หวาย
กล้วยไม้พันธุ์หวายเป็นที่รู้จักกันดี และนิยมตัดดอกมาปักแจกัน หรือใช้ประดับตกแต่งในวาระต่างๆ เป็นไม้ที่ปลูกง่าย ด้านของการดูแลก็ง่าย เพียงให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง แต่อย่าให้แฉะเกินไปเท่านั้น ส่วนความสามารถในการดูดสารพิษ ดูดได้มาก โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ อาซีโตน ฟอร์มัลดีไฮด์และคลอโรฟอร์ม ทั้งนี้ยังเป็นพืชที่คายออกซิเจนออกมาตอนกลางคืน และดูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป จึงเหมาะที่จะปลูกในห้องนอนนั่นเอง
10.เบญจมาศ
ลักษณะทั่วไปจะสูง 0.5-1.2 เมตร ความต้องการแสงแดดปานกลางถึงแสงแดดจัด เจริญได้ดีในดินร่วน มีต้องการน้ำปานกลางและความชื้นสม่ำเสมอ ด้านการดูแลให้ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักละลายน้ำ แล้วรดเดือนละ 1-2 ครั้ง ถ้าปลูกในอาคารควรตั้งไว้ให้ได้รับแสงส่องถึง ดูดสารพิษได้มาก เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์เบนซีน และแอมโมเนีย เป็นต้น