อาลัยรักเหล่ามังกรในยุทธภพอักษร / สุวินัย ภรณวลัย
(1) โกวเล้ง มังกรโบราณ (1937-1985) เสียชีวิตในวัยก่อนห้าสิบเพราะโรคตับแข็งจากการร่ำสุราอย่างหนัก เรียกว่าดื่มสุราจนอาเจียรเป็นเลือด ดื่มจัดกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
ตอนที่โกวเล้งเสียชีวิต ผมเพิ่งอายุแค่ 29 ปีเอง วรรณกรรมโกวเล้งมีอิทธิพลต่อจิตใจในวัยหนุ่มของผมมากที่สุด ยามที่ผมผิดหวังและปวดร้าวจากความรัก
ผมชอบ ฤทธิ์มีดสั้น , วีรบุรุษสำราญ , ผู้ยิ่งใหญ่, เซียวจับอิดนึ้ง , ซาเสียวเอี้ย ของโกวเล้งเป็นพิเศษ ในสายตาผมมันคือ นิยายรักที่คลุมด้วยนิยายกำลังภายในทับอีกทีเท่านั้น
โกวเล้งบรรยายความรู้สึกด้านในของผู้ชายในวัยฉกรรจ์ได้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อ จริงๆแล้วมันคือตัวตนของเขาที่ปรากฏผ่านตัวละครหลักๆในนิยาย .... ตัวตนของผู้ชายเสเพล ที่ติดเพื่อน สุรา นารี ใช้เงินอย่างมือเติบไม่ยั้งคิดไปกับอบายมุขทุกชนิด
ผมหลงไหลตัวละครจอมยุทธ์ทั้งหลายที่โกวเล้งสร้างขึ้นมา แต่ผมก็มีตัวตนที่แข็งแกร่งพอที่จะต่อต้านบุคลิกเสเพลของตัวละครในนิยายของโกวเล้ง โดยเฉพาะเรื่องติดสุรา หมกมุ่นในอบายมุข
ในทางกลับกัน ผมกลับสร้างตัวตนของตัวเองแบบ "บูรณาการ"บุคลิกของพระเอกกับพระรองในนินายของโกวเล้งขึ้นมาแทน
อย่างเช่น หลอมรวมบุคลิกของอาฮุยตอนที่ยังไม่หลงสุรานารีเข้ากับบุคลิกมากน้ำใจของลี้คิมฮวง
กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า บุคลิกของมูซาชิ ยอดซามูไรที่มีตัวตนจริงๆในประวัติศาสตร์เป็นคนปกป้องชีวิตผมในวัยหนุ่ม ไม่ให้รับอิทธิพลด้านลบผิดๆจากบุคลิกของพระเอกทั้งหลายในวรรณกรรมของโกวเล้ง
เป็นบุญของผมในวัยหนุ่มที่สามารถคัดเลือกแยกแยะสิ่งดีๆจากนิยายของโกวเล้งมาได้
"สติของคนหนุ่ม" สำคัญกว่าที่คิดมากบนเส้นทางชีวิตอันยาวไกล
....
(2) กิมย้ง (1924-2018) กิมย้งเขียนนิยายกำลังภายในตั้งแต่อายุ 31 ปี จนถึงอายุ 48 ปีแล้วล้างมือในอ่างทองคำ
หลังจากนั้นอีกเกือบครึ่งศตวรรษ กิมย้งไม่ได้เขียนนิยายกำลังภายในออกมาอีกเลย
เป็นที่น่าสังเกตว่า งานเขียนกำลังภายในที่พีคสุดๆทั้งของกิมย้งและโกวเล้ง คือช่วงที่ทั้งคู่อยู่ในวัยสี่สิบอันเป็นช่วงที่พลังสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของนักเขียนอยู่ในสภาพท็อปฟอร์ม
จุดเด่นของนิยายของกิมย้งคือเขียนนิยาย 'แปลงประวัติศาสตร์' ได้อย่างมีชีวิตชีวาและโลดแล่นอยู่ในจิตใจของคนอ่านอย่างตราตรึง
โดยส่วนตัวผมชอบมังกรหยกภาค 2 กับภาค 3 , ยิ้มเย้ยยุทธจักร และจิ้งจอกอหังการ ของกิมย้งที่สุด
ผมเสียดายอย่างเดียวที่กิมย้งน่าจะเขียนนิยายกำลังภายในอีกเรื่อง ให้มาถึงยุคปลายราชวงศ์ชิงและยุคสาธารณรัฐ โดยใช้ครูมวยที่มีตัวตนจริงอย่าง ฮั่วหยวนเจี่ย หวงเฟยหง ยิปมันเป็นตัวละครหลัก
แต่ถึงกิมย้งไม่เขียน นักสร้างหนังฮ่องกงก็สร้างเรื่องราวของหวงเฟยหง เฉินเจินศิษย์เอกของฮั่วหยวนเจี่ย และยิปมันออกมาสืบทอดตำนานผู้กล้าแทน
นิยายมังกรหยก ภาค 1 ตอนที่ก๊วยเจ๋งฝึกวิชากำลังภายใน หรือลมปราณกรรมฐานเสี่ยวโจวเทียนของสำนักเต๋าช้วนจิน
ผมอ่านตั้งแต่เรียนอยู่มัธยมต้น และทำให้ผมสนใจศาสตร์โบราณนี้ แต่การได้อ่านมังกรหยกภาค 3 ในวัยยี่สิบปลายๆ ทำให้ผมผละจากมวยกังฟูใต้หันมาฝึกมวยไท้เก๊ก(ไท่จี๋)ของจางซานฟงแทน หลังจากนั้น การฝึกลมปราณกรรมฐานทั้งสายพุทธและสายเต๋าเป็นแค่เรื่องของเวลาสำหรับผมเท่านั้นว่าจะฝึกอย่างจริงจังในช่วงไหนของชีวิตหลังจากนั้น
นี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากในชีวิตผมและเป็นการตระเตรียมผมให้เข้าสู่เส้นทางจิตวิญญาณในอีกเจ็ดปีต่อมา
(3) หวงอี้ (1952-2017) จะว่าไปแล้ว หวงอี้อยู่ในวัยใกล้เคียงกับผมที่สุด เขามีอายุมากกว่าผมแค่ห้าปีเท่านั้น
หวงอี้ยังเป็นนักเขียนนิยายกำลังภายในคนเดียวที่ผมได้เจอตัวจริงของเขาตอนที่เขาแวะมาเมืองไทย
โดยส่วนตัวผมชอบ มังกรคู่สู้สิบทิศของหวงอี้ที่สุด นิยายเรื่องนี้ทำให้ผมหันมาฝึกพิณกู่เจิ้ง และเล่นหมากล้อม เพื่อเยียวยาตนเองและสร้างตัวตนใหม่ของผมขึ้นมาในฐานะ 'นักกลยุทธ์' หลังจากที่ตัวผมเจอวิกฤตชีวิตช่วงวัยกลางคน
หวงอี้เสียชีวิตด้วยเส้นเลือดในสมองอุดตัน ในปี 2017 ด้วยวัย 65 ปีเท่านั้น
หวงอี้เริ่มเขียนนิยายตั้งแต่ปี 1987 หรือตั้งแต่อายุ 35 และไม่หยุดเขียนจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
จะว่าไปแล้วช่วงเวลาที่เป็นนักเขียนของหวงอี้นานถึง 30 ปี นานกว่ากิมย้งที่เป็นนักเขียนแค่ 17 ปี นานกว่าโกวเล้งที่เป็นนักเขียนยี่สิบกว่าปีแต่ปนเประหว่างงานคุณภาพกับงานที่เขียนหาเงินมาดื่มเหล้า
งานของหวงอี้ที่พีคๆอยู่ในช่วงที่หวงอี้อายุห้าสิบ ตรงนี้ก็น่าทึ่ง มิหนำซ้ำหวงอี้มือไม่ตกเลย จากมังกรคู่สู้สิบทิศ เขายังสามารถเขียนจอมคนแผ่นดินเดือด ออกมาได้อีก
กิมย้งเพิ่งจากโลกนี้ไปเมื่อวาน
นักเขียนนิยายกำลังภายในในดวงใจของผมทั้งสามคน จากโลกนี้ไปแล้ว
สิ่งที่ผมทำได้ตอนนี้ คือต้องเขียน "ภาคต่อ มูซาชิ" ออกมาเพื่อหล่อเลี้ยงสายธารวรรณกรรมบู๊เฮี้ยบที่เป็นภาษาไทยไม่ให้เหี่ยวเฉาเท่านั้นเอง
นี่เป็นวิธีเดียวที่ผมจะคารวะ ครูนักเขียนนิยายบู๊เฮี้ยบทั้งสามคนของผมด้วยความอาลัยรักได้
บทความพิเศษ : โดย สุวินัยภรณวลัย