จากที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อมใสและศรัทธา ในหลักปฏิบัติของพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และทรงสนพระทัยในด้านของการปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา ดังพระราชปุจฉา วิสัชนาธรรม ที่สมเด็จพระญาณสังวร ผู้ทรงเคยเป็นพระพี่เลี้ยงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงบันทึกไว้
จากบันทึกส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวัฑฒนมหาเถระ) บันทึกเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕, หนังสือ “ธรรมหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”, บรรณาธิการโดย รศ. สุเชาว์ พลอยชุม
การทำสมาธิ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว :
ทำสมาธิอย่างไร ?
สมเด็จพระสังฆราช :
คือทำใจให้ตั้งมั่น แน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว จะทำอะไรทุกๆ อย่าง ต้องมีใจเป็นสมาธิ ในทางปฏิบัติจึงต้องใช้สมาธิทั้งนั้น แต่มักมีคนเข้าใจว่า ทำสมาธิต้องนั่งหลับตา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว :
นั่งทำพิธี ทรงรู้สึกว่า เวลาปฏิบัติราชกิจต้องทรงสำรวมพระราชหฤทัย เช่น คราวพระราชทานกระบี่นักเรียนนายร้อย เพียงหยิบให้ ถ้าไม่สำรวมใจมีผิด สำรวมใจอยู่ก็ทำไม่ผิด
นิมิตในสมาธิ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว :
ทำสมาธิ มองเห็นภาพต่างๆ เป็นจริงหรือ ?
สมเด็จพระสังฆราช :
โดยมากไม่จริง ... ภาพที่เห็นมักเป็นนิมิต คือ ภาพที่เกิดจากสัญญา หรือที่เรียกว่า “ภาพอุปาทาน” คือ ได้เคยคิดเคยเห็นมาแล้วเก็บไว้ในใจ ครั้นทำสมาธิ ใจแน่วแน่ สิ่งที่เก็บไว้ในใจนั้นก็ปรากฏขึ้นมา เหมือนอย่างที่เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทวดา ถามว่า เทวดารูปร่างอย่างไร ตามคำตอบก็คล้ายกับเทวดาที่ผนังโบสถ์ แต่ที่เป็นจริงก็มี เป็นพวกทิพยจักษุมีน้อย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว :
เหมือนอย่างดูของหาย มองเห็น มีพระดูได้
สมเด็จพระสังฆราช :
ถ้ามองเห็น ถูกต้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น ก็ต้องรับว่าเป็นจริง เพราะมีข้อพิสูจน์
สมเด็จพระสังฆราช :
(ทูลรับพระราชดำรัส)
บทสนทนาระหว่างในหลวงกับพระสงฆ์อริยเจ้าเหล่านั้น ทั้งพระราชปุจฉาที่ทรงถามและพระราชดำรัสที่ทรงตอบ หรือแม้แต่พระบรมราโชวาทที่ในหลวงพระราชทานให้แก่คณะบุคคลในโอกาสต่างๆ กันนั้น แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาอัจฉริยะที่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีความเข้าพระทัยในพุทธธรรมอันลึกซึ้งอย่างแท้จริง