เรื่อง "การปฏิบัติพระองค์"
บันทึกส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระญาณสังวร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว :
การปฏิบัติพระองค์ให้เหมาะเป็นการยาก ต้องทำสองอย่างพร้อมๆ กัน อย่างหนึ่งต้องให้มีภาคภูมิ อีกอย่างต้องให้สุภาพ มิให้เป็นหยิ่งหรือที่เรียกกันว่า “เบ่ง” และในสมัยประชาธิปไตยก็ต้องให้เหมาะสม เข้ากันได้กับประชาชน
สมเด็จพระสังฆราช :
ตามที่ได้ฟัง ได้ยินแต่เสียงชื่นชมในพระบารมี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว :
ต้องคอยสังเกตเป็นบทเรียนและแก้ไขเรื่อยมา เมื่อคราวเสด็จภาคอีสาน วันหนึ่งเหนื่อยมาก หน้าบึ้ง กลับที่พักแล้วก็นึกขึ้นได้ว่า ราษฎรได้มีโอกาสเห็นเราเพียงครั้งเดียว ให้เขาเห็นหน้าบึ้งไม่ดี ต่อจากนั้น ถึงจะเหนื่อยมากก็ต้องพยายามไม่ทำหน้าบึ้ง ต้องทำชื่นบาน
กำลังใจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว :
เมื่อคราวเสด็จทางภาคใต้ วันหนึ่งไม่สบาย แต่ถ้างด ไม่ไป ก็จะเสียหาย ต้องไป ครั้นไปแล้วกลับมาก็สบายดี จะเป็นเพราะกำลังใจใช่ไหม ?
สมเด็จพระสังฆราช :
(ทูลรับ แล้วทูลว่า) ฝึกบ่อยๆ กำลังใจจะมากยิ่งขึ้น
เรื่องเล่านี้ มาจาก บันทึกส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวัฑฒนมหาเถระ) บันทึกเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕, หนังสือ “ธรรมหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”, บรรณาธิการโดย รศ. สุเชาว์ พลอยชุม
จะเห็นได้ว่าหลายครั้ง ไม่ว่าจะทรงเหน็ดเหนื่อย ตรากตรำพระวรกายเพียงใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ไม่ทรงลืมที่จะ "ปฏิบัติธรรม" ไปพร้อมๆ กับการทรงงาน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทรงห่วงใยความรู้สึกของราษฎรมากกว่าพระองค์เองเสมอ